Movie Review : The Purge: Anarchy (2014)


ด้วยความสดใหม่ของบทหนัง ตั้งแต่ภาคแรก และอัตราความสนุกอยู่ในระดับหลายกะโหลก ทำให้ The Purge ในภาคต่อเป็นอะไรที่น่าสนใจว่าหนังจะพาคนดูไปในทิศทางไหน กับประเด็นของบทหนังที่ได้สร้างชื่อไว้

จากภาคที่แล้วเรื่องประเด็นสังคมและการเมือง ที่หนังยังทิ้งรอยโหว่ (ที่ไม่สมประกอบและแนบเนียน) เอาไว้ให้คนดูตั้งคำถามขบคิด มาต่อกันในภาคนี้ หนังไม่ได้สานต่อหรือเน้นย้ำในประเด็นนั้น แต่หนังกลับเลือกไปเล่าเรื่อง “ประเพณีวันล้างบาป” ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น

คือจากเรื่องของคนในบ้าน เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของคนนอกบ้าน ที่ต้องเอาตัวรอดจากคืนล้างบาปนรกแตกนั้น


แน่นอน เมื่อหนังมุ่งความสนใจไปยังความบันเทิงเป็นหลัก แล้วทิ้งเรื่องบทที่สดใหม่ตั้งแต่เริ่มไว้กับภาคแรกไว้แบบเดิม The Purge: Anarchy เลยกลายเป็นงานภาคต่อที่มีทั้งได้และเสียหลายอย่างปะปนกันแบบตลบอบอวลระหว่างกำลังนั่งดู

ที่ได้คือความบันเทิงแบบลุ้นระทึกที่ใหญ่ขึ้นของคืนวันล้างบาป ทั้งจากผู้ล่า และผู้ถูกล่า การขยายเรื่องจากภาคแรกที่ทำให้เห็นว่าการล้างบาปออกมาฆ่าคน ไม่ใช่เรื่องของการแก้แค้น หรือนึกสนุกของคนบางกลุ่ม แต่มันขยายวงกว้างมากกว่านั้น โดยมีเรื่องของการทำธุรกิจล่าหัวมนุษย์ด้วยกันจากพวกไฮโซ (คนรวยจ้างคนจนไปหาเหยื่อให้ตัวเองฆ่าเพื่อความบันเทิง)รวมทั้งเรื่องที่ทางรัฐก็ออกมาล่าประชาชนเช่นเดียวกัน (แบบผิดกฎ) เพื่อถ่วงสมดุลประเพณีล้างบาปของตัวเองเอาไว้ และไหนจะมีเรื่องของการลุกฮือของกลุ่มคนที่ต่อต้านประเพณีคืนวันล้างบาปเข้ามาเพิ่มอีกด้วย ซึ่งตลอดทั้งเรื่องจะเห็นได้ว่าหนังมันเล่าในรายละเอียดส่วนนี้ได้ค่อนข้างกลมกล่อมลงตัวกันอย่างพอดี 


ในส่วนที่เสีย เป็นเรื่องของการไม่ยอมต่อยอด และปิดแผลโหว่ของบทจากภาคที่แล้ว ซ้ำร้ายยิ่งหนังเดินเรื่องไปก็ยิ่งทำให้เรื่อง “ประเพณีคืนวันล้างบาป” (เหมือนลัทธิศาสนาซักอย่าง) ถูกลดท่อนความน่าเชื่อถือมากขึ้น ว่าจริงๆ แล้วมันส่งผลดีกับสังคมขนาดไหน

ฆ่าเพื่อลดจำนวนคนที่อ่อนแอ (ที่ส่วนใหญ่ถูกเหมารวมว่าเป็นคนจน) เพื่อให้สังคมดีขึ้น พัฒนาขึ้น อาชญากรรมลดลง เศรษฐกิจก้าวหน้า ซึ่งดูๆ ไปแล้วแม้ว่าตัวเลขทางสถิติที่หนังเอามาอ้างอิงจะช่วยให้น่าเชื่อถือ แต่ลึกๆ แล้วข้างในสภาพจิตใจของผู้คนในสังคมยังไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด


ตราบใดที่มนุษย์ยังรู้สึกผิดกับการฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (อันถูกปลูกฝังรากฐานความเชื่อมาจากศาสนาที่นับถือก่อนการมีประเพณีคืนวันล้างบาป) ยังสับสนกับกฎหมายบ้านเมืองที่ยังฝากผีฝากไข้ไม่ได้ในทิศทางความถูกต้องที่ควรจะเป็นโดยอิงจากหลักของมนุษยธรรม (คนโกงเงินสมควรถูกลงโทษและชดใช้ / คนเมาขับรถชนคนตาย สมควรขึ้นศาล ติดคุก ไม่ใช่ลอยนวล) รวมทั้งเรื่องของการที่ยังสับสนของคนในสังคมว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเพณีคืนวันล้างบาป ซึ่งสุดท้ายแล้วประเพณีดังกล่าวก็แทบจะไม่มีความหมาย และแก่นแท้อันเป็นสาระอะไรให้เราต้องไปเชื่อถือ แม้กระทั่งตัวละครในเรื่องก็ยังย้อนแย้งพฤติกรรมตัวเองหลายอย่างที่สวมบททั้ง “ผู้ล่า” และ “ผู้ถูกล่า” ในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ยังดีที่หนังเลือกจบและพาตัวเองออกมาจากข้อครหาดังกล่าวได้อย่างสวยหรูที่สุดเท่าที่มันควรจะเป็น

The Purge: Anarchy จึงเป็นงานที่ขายความระลึกในสเกลที่ใหญ่ขึ้น แล้วลดความน่าเชื่อถือของแก่นสารสาระสำคัญของ “ประเพณีคืนวันล้างบาป” ลงไปอีกหลายช่วงตัว

คะแนน 7.5/10

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ขนมเด็กโบราณในความทรงจำ

Movie Review : อวสานโลกสวย (2016)

Movie Review : Jeepers Creepers (2001)