ออนซอนนครพิงค์ : Chapter 1 "แรกรัก"


จำความรู้สึกแรก ตอนที่เจอ “เธอ” คนที่ถูกใจกันได้มั้ยครับ? ถ้าจำได้ ผมก็รู้สึกแบบนั้น ตอนครั้งแรกที่เจอถนนต้นยางสายเชียงใหม่ – ลำพูน

ที่สำคัญ กล้าเดิมพันโดยการกระโดดเตะต้นยางยักษ์ขาหักสองท่อนทันที ถ้ามีถนนเส้นอื่นในเชียงใหม่ให้ผมยอมก้มหัวศิโรราบในความมีเสน่ห์

เสน่ห์ กับ สวย สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

เสน่ห์ คือ ลักษณะที่ชวนให้รัก ผู้หญิงบางคนไม่สวย แต่มีเสน่ห์ ในขณะที่บางคนสวย แต่ไม่มีเสน่ห์ ถามผม ผมก็จะตอบว่า ชอบคนมีเสน่ห์

มองแล้วไม่มีเบื่อ

หลังจากรอนแรมด้วยมอเตอร์ไซค์แม่บ้าน จากแดนอีสาน มายังนครพิงค์ ด้วยเวลา 2 วัน กับอีก 2 คืน มือที่ไหม้เกรียมจากอุณหภูมิกว่า 30 องศา ชนิดที่หำในร่มผ้าแทบระเบิด ก็ค่อยๆ บิดพาร่างของผมเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ 

ลำพูน - สารภี - เชียงใหม่ สองข้างทางผายมือต้อนรับด้วยต้นขี้เหล็กที่ปลูกเรียงราย ก่อนจะสับเปลี่ยนเป็นต้นยางนา เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอสารภี

ต้นยางนาอายุร้อยกว่าปี กับขนาดความสูงหลายสิบเมตร รอบต้นมีผ้าสบงจีวรสีเหลืองพันรอบ ตามแนวคิดเรื่อง พิธีกรรม"บวชป่า" เพื่อรักษาป่าไว้ให้คงอยู่ มองดูแล้วให้อารมณ์เหมือนกับเจ้าบ้าน ผู้ทำหน้าที่ต้อนรับอาคันตุกะ ให้ฉีกยิ้มบนใบหน้า

มีเรื่องเล่าฉบับบ้านๆ เกี่ยวกับ  "ต้นยางนา และ ต้นขี้เหล็ก"  ว่าเมื่อครั้งโบราณยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่แน่นอนนักระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน  เจ้าผู้ครองนครทั้งสองเลยมาตกลงกันว่า “ฉันกับนายน่าจะมาพูดถึงเรื่องการกำหนดหาจุดแดนเมืองกัน"  บนเส้นทางสายเลียบแม่น้ำปิงเก่าสายนี้ นัยว่าในอนาคตลูกหลานจะได้ไม่มาวุ่นวายกันให้ปวดหัวเล่นๆ ว่าแล้วก็ใช้วิธีกำหนดเขตแดน โดยการปลูกต้นไม้ (ช่างเป็นวิธีที่สุดแสนจะครีเอท) ทิ้งช่วงเป็นระยะๆ   เริ่มจากเขตเมืองของตนก่อน  แล้วค่อยๆ  กินแดนมาเรื่อยๆ จนกว่าจะมาบรรจบกัน  ฝ่ายไหนปลูกต้นไม้ได้ไกลมากแค่ไหนก็จะได้เขตแดนเมืองมากเท่านั้น

ถึงวันลั่นกลองปลูก ฝ่ายเจ้าผู้ครองนครพิงค์ เชียงใหม่ มีวิสัยทระนงรักความโออ่าสง่าภูมิฐาน ไม่ต่างจากบุรุษใส่สูทผูกไทในมาดเท่ๆ จึงเลือกต้นยางนาเพื่อให้ดูสูงโดดเด่นเป็นศักดิ์เป็นศรี ฟากเจ้าผู้ครองนครลำพูน คำนึงถึงปากท้องของชาวบ้านก่อน จึงเลือกต้นขี้เหล็ก คือแม้จะไม่สูงสง่าราศี  แต่ก็ให้ร่มเงา และสามารถเอา ดอก ใบ มาต้มแกงได้

นอกจากจะเลือกไม้ต่างกัน เจ้าเมืองทั้งสองยังเลือกเสด็จด้วยวิธีต่างกัน

เชียงใหม่ เป็นเมืองเปิด ติดต่อค้าขายกับผู้คนมากหลาย เจ้าเมืองเลยเสด็จด้วยกระบวนม้า เพราะต้องทำเวลาแข่ง ในขณะที่ฝ่ายผู้ครองนครลำพูน  ไม่ค่อยคุ้นเคยกับพวกพ่อค้า จึงค่อยๆ เสด็จด้วยกระบวนช้าง

ระฆังตีดังหมดยก ผลปรากฏว่าเชียงใหม่ได้รับการชูมือ ต้นยางนาของเชียงใหม่ จากสะพานนวรัฐมาถึงแดนเมืองวัดความยาวถนนได้ 15.8 ก.ม. ฝั่งลำพูนแนวถนนต้นขี้เหล็กปลูกได้เพียง 10.7 ก.ม.เท่านั้น

ถนนเส้นนี้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2438 ก่อนต่อมาระหว่างปี  พ.ศ.2445 2458  พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์  (เชยกัลยาณมิตร) ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพคนแรก มีนโยบายท้องถิ่นที่เรียก  น้ำต้องกองต๋ำ”  คือต้องการพัฒนาถนนหนทาง  จึงได้นำต้นยางนามาปลูกตลอดสองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน  พอเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก  โดย  "คาดว่า"  น่าจะปลูกเมื่อราว  พ.ศ.  2445

จากวันนั้นถึงวันนี้ กินเวลาเป็นร้อยกว่าปี กว่าจะผ่านกันมาได้แบบนี้ มีให้เห็นสวยๆ ก็มีต้นไม้หลายต้นที่หม่องเท่งกันไปเยอะ (ขณะสมัยก่อนมีกฎระเบียบดูแลเคร่งครัดนะ เช่น สัตว์เลี้ยงของใครเข้าไปเหยียบย่ำ ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ถ้าต้นยางนาปลูกตรงกับหน้าบ้านใคร ก็ต้องทำรั้วล้อมรอบ เอาใจใส่ดูแล)

ด้วยความเข้าใจผิดๆ ของชาวบ้านบางคน ที่กลัวไม้จะล้มทับบ้านตัวเองเวลาล้มพายุมา ก็เอาน้ำร้อนไปรดที่โคนต้นทุกวัน หวังให้มันตาย บางคนหัวหมอหน่อยก็เอาสารเคมีไปรด พอมันตายจะได้แจ้งเทศบาลให้มาตัดออก ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงยิ่งขนาดของต้นยางนามีความสูงเสียดฟ้ามากเท่าไร รากของมันก็ยิ่งหยั่งลึกมากเป็นเงาตามตัว  ในอัตราส่วน 1:1.5

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าต้นยางสูงจากพื้นดิน 20 เมตร รากที่ชอนไชอยู่ใต้ดินทะลุไปถึงใต้บาดาลนั้น จะมีความลึกของรากโดยประมาณ 30 เมตร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ต้นยางจะไม่สามารถทรงตัวให้สมดุลกับความสูงเก้งก้างของตัวเองได้

นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกหลากโครงการที่หวังจะโค่นมันทิ้งลง เพื่อการก่อสร้างสิ่งอื่นๆ แล้วอ้างเหตุผลหล่อๆ แบบขอไปที

 40 กว่านาที เนิบๆ บนความ “สะออน” (แปลว่า ตื่นตา ตื่นใจ) ไปกับถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน กับความสงสัย ใคร่อยากรู้ถึงเหตุผลที่มา สุดท้ายผมก็มาโผล่ที่เชิงสะพานเหล็ก ก่อนถึงสะพานนวรัฐ

“ตรงนี่น่าจะใช่สะพาน ที่เคยถ่ายหนังเรื่องเพื่อนสนิทแน่ๆ” ผมคิดอยู่ในใจ พร้อมใบหน้าที่ขมวดคิ้ว

ในขณะที่ไข่ย้อยกำลังเดินจากใต้ต้นชงโค ผ่านประตูท่าแพ ผ่านสะพานเหล็ก ไปยังสถานีรถไฟเชียงใหม่ เพื่อไปสุราษฎร์ ผมกำลังนับหนึ่ง เพื่อเริ่มต้นผจญภัยในเมืองแห่งนี้

เมืองแห่งแม่น้ำปิง ที่เรียกว่า “นครพิงค์” ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ขนมเด็กโบราณในความทรงจำ

Movie Review : อวสานโลกสวย (2016)

Movie Review : 12 Angry Men (1957) อย่าด่วนตัดสินใคร!